โฆษณา

วันเสาร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2555

ไม่ยอมแพ้แก่โชคชะตา

(copy มาจาก Facebook ของ พระไพศาล วิสาโล )


" ไม่ยอมแพ้แก่โชคชะตา" (Repost)

คุณจะรู้สึกอย่างไร หากทั้งชีวิตมีแต่เรื่องร้ายๆ หนักๆ ประดังประเดเข้ามา ตั้งแต่เกิดก็เกือบจมน้ำตาย โตขึ้นก็สูญเสียแม่ พ่อป่วยหนัก มีน้องๆ ต้องดูแลหลายคนทั้งๆ ที่ยังเรียนไม่จบ ครั้นแต่งงาน ก็มีลูกพิการ สุดท้ายสามีก็ทิ้ง แล้วยังมาเจอเนื้องอกที่มดลูก ผ่าตัดลำไส้เหลือแค่ครึ่งเดียว จากนั้นก็ถูกรถชน กระดูกคอหัก รอดตายแล้วก็ไปเจออุบัติเหตุรถยนต์อีก แขนหักสองท่อน และตับแตก อายุไม่ถึง ๕๐ แต่กระดูกผุราวคน ๘๐ แล้วยังไม่รู้ว่าจะเจออุบัติเหตุอีกกี่ครั้ง เจอแบบนี้แล้ว คุณยังคิดอยากอยู่อยากยิ้มให้กับชีวิตนี้อีกหรือ ?

แต่สำหรับ คุณเกษมสุข ภมรสถิตย์ ชีวิตนี้ไม่เคยเลวร้ายเกินทน เธอยังยิ้มให้กับชีวิตได้เสมอ ไม่รู้สึกท้อแท้สิ้นหวังหรือหวั่นหวาดอนาคต เพราะมั่นใจว่าพรุ่งนี้ย่อมดีกว่าวันนี้

พูดอย่างคนโบราณ ชีวิตของเธอเหมือนกับเกิดมาเพื่อรับกรรม ลืมตาดูโลกได้ไม่ถึง ๒ เดือนพี่เลี้ยงก็ทำหลุดมือตกน้ำ เกือบจะหลุดเข้าไปใต้โป๊ะท่าน้ำ แต่เดชะบุญมีคนคว้าไว้ได้ทัน ทั้งน้ำและน้ำมันเข้าปาก พออายุได้ ๘ ขวบก็จมน้ำอีก ผุดทะลึ่งขึ้นมาครั้งที่ ๓ พ่อถึงเห็นและเกี่ยวขึ้นมาได้ทัน จมน้ำปางตาย ๒ ครั้งทำให้ร่างกายอ่อนแอ เจอแดดร้อนๆ ไม่ได้ มีอันต้องเป็นลม ร้องไห้ประเดี๋ยวเดียวก็เป็นลมสลบ จนใครๆ หาว่าสำออย

เรียนมหาวิทยาลัยแค่ปี ๒ แม่ก็เสีย พ่อทำใจไม่ได้ ช็อคหัวใจวาย กลายเป็นคนป่วยนับแต่นั้น ไม่นานบ้านก็ถูกยึดเพราะเป็นหนี้ อายุแค่ ๑๙ ปีเธอกลายเป็นกำลังหลักคนเดียวของครอบครัวที่ต้องหาเงินมาเลี้ยงพ่อและน้องๆ ทั้ง ๕ คน ไม่ได้หดหู่ท้อใจในชะตากรรม เป็นความรู้สึกของเธอในตอนนั้น โดยหารู้ไม่ว่าเคราะห์กรรมยังจะตามมาอีกมาก

เธอแต่งงานก่อนวัยเบญจเพส เมื่อคลอดลูกก็พบว่าลูกพิการ เพราะหมอใช้คีมคีบหัวออกมาอย่างไม่ถูกต้อง สมองจึงเติบโตได้ไม่เต็มที่ หมอทำนายว่าจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างมาก ๙ ปี แต่เธอก็เลี้ยงดูเอาใจใส่จนลูกอายุ ๒๐ กว่าแล้ว คลอดลูกมาได้ปีกว่า ก็พบว่าเป็นเนื้องอกที่มดลูก ปรากฏว่าหมอตัดส่วนที่ดีทิ้งไป จึงต้องเข้าโรงพยาบาลอีกครั้ง คราวนี้มดลูกที่เหลือถูกตัดทิ้งหมดรวมทั้งรังไข่ด้วย ทำให้ร่างกายขาดฮอร์โมน ครั้นกินฮอร์โมนทดแทน ก็แพ้ เลยเป็นโรคกระดูกผุนับแต่บัดนั้น เท่านั้นยังไม่พอ ระหว่างผ่าตัด โรคกระเพาะเกิดกำเริบ จนตัวบวมเขียว หมอต้องเปิดท้องตัดลำไส้จนเหลือเพียงครึ่งเดียว

อายุไม่ถึง ๒๖ เธอก็มีอวัยวะไม่ครบเหมือนคนปกติ แถมมีลูกพิการที่เสี่ยงต่อความตาย แม้เธอจะรักษาชีวิตของตนและของลูกได้ แต่แล้วก็ต้องสูญเสียเสียสามี ชีวิตครอบครัวที่มีแต่ปัญหาทำให้เธอกับเขาตัดสินใจแยกทางกัน

เจออย่างนี้แล้วเธอยังทำใจได้ ไม่คิดโทษใคร หรือน้อยใจในชีวิต

เคราะห์กรรมยังซ้ำเติมไม่จบ ราวกับจะทดสอบจิตใจของเธอ วันหนึ่งขณะที่รถติดไฟแดง ก็มีรถเมล์เบรกแตกวิ่งมาชนรถของเธอ แรงกระแทกทำให้กระดูกคอของเธอซึ่งผุอยู่แล้วหักทันที และไปทับเส้นประสาททำให้เป็นอัมพาต เดชะบุญที่สามารถรักษาให้หายได้หลังจากนอนแน่นิ่งในโรงพยาบาลเกือบ ๒ เดือน

หลังจากครั้งนั้นแล้ว ก็เจออุบัติเหตุอีก รถของเธอเลี้ยวโค้งแล้วไปชนกับเสาไฟฟ้า กระดูกที่แขนของเธอหักออกจากกัน ห้อยร่องแร่ง แถมยังถูกก้านเกียร์ทิ่มใต้ชายโครงขณะช่วยคนขับหักพวงมาลัยหลบคอสะพาน ผลก็คือตับแตก

เธอยังต้องเจออุบัติเหตุอีกหลายครั้ง แม้แต่วันที่ไปออกรายการ “เจาะใจ” ก็ยังมีรถยนต์มาชนท้าย กระเทือนที่คอและหลัง แต่เธอก็ยังบอกว่าไม่เป็นไร ทนได้ ต่อเมื่อถ่ายทำรายการเสร็จแล้ว จึงไปให้หมอตรวจและรักษาที่โรงพยาบาล

วันนี้เธออายุ ๕๒ และไม่รู้ว่าจะเจออะไรข้างหน้าอีก แต่เธอก็ยังมีขวัญและกำลังใจในการดำเนินชีวิต

คงมีไม่กี่คนในโลกนี้ที่เจอเคราะห์ซ้ำกรรมซัดไม่หยุดหย่อนอย่างคุณเกษมสุข ยกเว้นคนที่เจอภัยสงครามหรืออดอยากหิวโหยปางตายแล้ว จะมีสักกี่คนที่ลำบากลำเค็ญเท่าเธอ

แต่แปลกไหมที่เธอไม่รู้สึกเป็นทุกข์เป็นร้อนกับชีวิตที่เต็มไปด้วยเคราะห์กรรมเลย ถ้าชะตากรรมมีจริง เธอเป็นคนหนึ่งที่ย้ำเตือนว่าเราสามารถเอาชนะชะตากรรมได้ ไม่ได้ชนะที่ไหน หากชนะที่ใจนั่นเอง

ชีวิตของเธอบอกให้เรารู้ว่า คนเราจะทุกข์หรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ว่ามีอะไรมากระทบกับเรา แต่อยู่ตรงที่เรารู้สึกอย่างไรกับสิ่งนั้น หรือทำอย่างไรกับมันต่างหาก แม้จะมีเรื่องร้ายๆ เกิดขึ้นกับเรา แต่ถ้าเราทำใจรับได้ ความทุกข์ก็เกิดขึ้นไม่ได้ ในทางตรงกันข้าม แม้มีเงินทองไหลมาเทมา แต่ถ้าเราคิดว่ามันน้อยเกินไป ทำให้รวยไม่พอหรือไม่เท่าคนอื่น เมื่อนั้นใจเราก็เป็นทุกข์ทันที หลายครั้งที่ความเดือดร้อนของคุณเกษมสุขเกิดขึ้นจากฝีมือคนอื่นแท้ๆ เช่น หมอที่ใช้คีมคีบหัวลูกแรงเกินไป ตัดมดลูกผิดข้าง แม้แต่รถจอดนิ่งอยู่ ก็ยังมีรถคนอื่นมาชน ข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง แต่เธอไม่เคยเสียเวลาไปโทษคนอื่น เล่นงานเขา หรือก่นด่าชะตากรรม หากคิดเพียงว่าจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไร และรักษาใจให้เป็นปกติได้อย่างไร

ตอนที่นอนป่วยอยู่ในโรงพยาบาลเพราะกระดูกคอหัก หมอเอาเหล็กแหลมเจาะเข้าไปในกระโหลกทั้ง ๒ ข้างเพื่อป้องกันไม่ให้คอเขยื้อ นขยับ เธอเจ็บมาก แต่เห็นว่าถ้าตนใจเสีย หมอและน้องๆ ก็ใจเสียไปด้วย เธอเลือกที่จะทำใจให้ปกติ ไม่ตีโพยตีพาย เพราะ “ถ้าต้นตอไม่ตีโพยตีพายเสียก่อน คนรอบข้างก็อยู่ได้ และกำลังใจนั้นมันก็จะถูกส่งกลับมาที่เราอีกที”

ไปๆ มาๆ ปรากฏว่า คนป่วยกลับมีจิตใจสบายกว่าคนมาเยี่ยมเสียอีก จนกลายเป็นที่ปรับทุกข์ให้แก่ คนรอบข้าง แต่เธอไม่ใช่พระอิฐพระปูน ฟังเรื่องพวกนี้มากๆ ก็ทุกข์ได้ง่ายๆ ทางออกของเธอก็คือ “จับ (คนมาเยี่ยม) นั่งสมาธิเสียเลย จะได้ไม่มีเวลาพูดเรื่องอะไรที่มันร้อนใจ”

กลายเป็นว่าคนป่วยกลับเป็นที่พึ่งทางจิตใจให้แก่คนปกติ แทนที่จะตรงกันข้าม

สิ่งสำคัญที่ประคองใจไม่ให้ทุกข์ร้อนไปกับเหตุร้ายก็คือ สติ สติอ่อนเมื่อไหร่ ใจก็จะโวยวายตีโพยตีพาย โทษคนโน้นคนนี้ จนลืมจัดการกับตนเอง ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่ต้องทำก่อนอื่นใด น้องๆ คุณเกษมสุขเล่าว่า ตอนเกิดอุบัติเหตุรถชนเสาไฟฟ้า คุณเกษมสุขโทรศัพท์บอกที่บ้านอย่างเรียบๆ ธรรมดาว่า “ไม่เป็นไร แต่คิดว่าตับแตก” สติเท่านั้นที่จะทำให้เรื่องร้ายกลายเป็นเบา อย่างน้อยก็ไม่ทำให้เลวร้ายลงไปอีก ทั้งยังช่วยให้เราแก้ไขสถานการณ์ด้วยปัญญาอย่างสอดคล้องกับความเป็นจริง

ใครที่คิดว่าตัวเองทุกข์หนักหนาสาหัสแล้ว ลองนึกถึงชีวิตของคุณเกษมสุข อาจจะได้คิดว่าตนนั้นยังโชคดีอยู่มากเมื่อเทียบกับเธอ แต่เท่านั้นยังไม่พอ น่าจะได้คิดต่อไปอีกด้วยว่า สุขทุกข์นั้นแท้จริงอยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ที่ว่าอะไรเกิดขึ้นกับเรา ถึงจนก็สุขได้ ถึงป่วยก็ยิ้มได้ แม้จะพลัดพรากสูญเสียแค่ไหน ก็ยังมีสิทธิแช่มชื่นแจ่มใสได้ แต่ถ้าทำใจไม่เป็นเสียแล้ว รวยแค่ไหน มีอำนาจมากเพียงใด ทรวดทรงงดงามเพียงใด ก็ยังทุกข์อยู่นั่นเอง

จะเจออะไรมาก็แล้วแต่ ข้อสำคัญประการสุดท้ายก็คือ อย่ายอมแพ้ต่อชะตากรรม อย่าปล่อยใจไปกับ ความลำเค็ญ ความล้มเหลว และความเศร้าโศกท้อแท้ ในยามร้ายไม่มีอะไรดีกว่าการปลุกใจให้อดทน เข้มแข็ง สดชื่น และเปี่ยมด้วยความหวังว่าพรุ่งนี้ย่อมดีกว่าวันนี้

พระไพศาล วิสาโล